Friday, December 2, 2011

"อากง SMS" เหยื่อความโหดของกฏหมาย



อัยการสั่งฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 311/54 กรณีนายอำพลตกเป็นผู้ต้องหาส่ง SMS ที่มีข้อความหมิ่นเบื้องสูงไปยังนายกรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญ มีความผิดตามมาตรา 14 (2),(3) ตามพ.ร.บ.การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวตเตอร์ฯ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และคำสั่ง คปค.ฉบับที่41



2 มีนาคม 2554 ทนายอานนท์ นำภาและทนายอาสา เข้าเยี่ยม เมื่อเวลา14.00น. เพื่อนัดให้อากงเตรียมตัวเรื่องการยื่นประกันในอีกหนึ่งอาทิตย์ และศาลนัดพร้อมวันที่ 21 มีนาคม2554

อำพล ตั้งนพกุล

ชายวัย 61 ปี หรือที่คนในครอบครัวและคนอื่นๆ เรียกว่า “อากง”ตกเป็นผู้ต้องหาหมิ่นสถาบันด้วยการส่ง SMS ที่มีข้อความดังกล่าวไปยังเลขานุการส่วนตัวนายกรัฐมนตรี

นายอำพล และภรรยา อาศัยอยู่ย่านสำโรงในห้องเช่าราคาเดือนละ 1,200 บาท โดยอาศัยเงินจากลูกๆ ที่ส่งให้คนละเล็กคนละน้อย เพราะสองลุงป้าไม่ต้องการเป็นภาระกับลูกซึ่งแยกย้ายกันไปมีครอบครัวแล้ว และที่สำคัญ ล้วนแต่หาเช้ากินค่ำกันทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เขาทั้งคู่ยังมีภาระต้องเลี้ยงดูหลาน 3-4 คน ซึ่งเป็นผลิตผลที่ลูกบางคนทอดทิ้งไว้อีกด้วย

ส่วน ‘ปุ้ย’ ลูกสาวอากงเป็นซิงเกิลมัม แต่สามียังช่วยส่งเสียลูก 2 คน ปัจจุบันปุ้ยกลายเป็นหัวเรือหลักในการดูแลแม่และดำเนินการเรื่องคดีพ่อ เธอมีอาชีพเป็นคนงานในโรงงานผลิตโฟมแถวบ้าน ได้ค่าจ้างตามค่าแรงขั้นต่ำ ทำงานวันละ 12 ชั่วโมง วันนี้เธอสลับกะกับเพื่อนเพื่อส่งพ่อสูงวัยมารายงานตัวที่ศาลตั้งแต่เช้า และรอจนฟ้าเกือบมืดเพื่อฟังคำสั่งศาลซึ่งไม่ให้ประกันตัวพ่อของเธอ

อากงถูกตำรวจบุกจับกุมเมื่อวันที่ 4 ส.ค.53 และถูกควบคุมตัวในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ราว 2 เดือน จนได้รับอนุญาตให้ประกันตัวได้ในที่สุด สำหรับชาวบ้านธรรมดาหาเช้ากินค่ำ เรื่องราวของการที่ตำรวจเกือบ 20 นายพร้อมกองทัพนักข่าวบุกเข้าบุกค้นบ้านพักและทำการจับกุมในวันนั้นถือเป็นสิ่งที่กระทบกระเทือนความรู้สึกของภรรยาและหลานๆ อย่างไม่รู้ลืม
“มันเหมือนเราเป็นอาชญกรร้ายแรง เหมือนเราแปลกแยกกับคนอื่น เขาเข้ามาค้นทุกอย่าง ถ่ายรูปทุกอย่าง แม้แต่รูปหลานๆ ตัวเล็กๆ ที่ร้องกันกระจองงอแง มันน่ากลัว อย่าให้เกิดอีกเลย มันจะไม่มีแบบนั้นแล้วใช่มั้ย” ป้าอุ๊เล่าเรื่องไป ถามหาคำตอบไป
พาดหัวข่าววันต่อมาปรากฏข่าวจับกุมลุงอำพล พร้อมระบุว่าเป็นฮาร์ดคอร์เสื้อแดง มันทำให้ครอบครัวตั้งนพกุลหวาดระแวงกับนักข่าวตั้งแต่นั้น เพราะพวกเขายืนยันว่าอากงเป็นเพียงคนแก่ๆ ที่มีอาชีพหลักคือ อยู่บ้านเลี้ยงหลาน และด้วยความที่มีเวลาว่างมากในช่วงกลางวัน แกจึงมักจะเดินทางไปสังเกตการณ์กิจกรรมทางการเมืองหรืองานต่างๆ ที่จัดขึ้นเสมอ
“สมัยเสื้อเหลืองแกก็ไป ตอนในหลวงท่านป่วยช่วงแรกๆ แกก็ไปถวายพระพรที่โรงพยาบาลศิริราช พอมาสมัยเสื้อแดงแกก็ไปดูอีก แต่ยังไงๆ แกก็ต้องกลับมาให้ทันรับหลานกลับจากโรงเรียน” ภรรยาอากงเล่า

อำพลให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยืนยันว่าตัวเองไม่ใช่ผู้กระทำการ เพราะเพียงจะส่ง sms ยังส่งไม่เป็น เขาเคยกล่าวกับภรรยาว่าอย่างไรก็จะยืนยันเช่นนี้ จะฆ่าจะแกงแกก็ยอม
ป้าอุ๊ยังเล่าถึงความยากลำบากภายหลังอากงถูกจับว่า ทั้งครอบครัวระส่ำระสาย เพราะไม่มีเงินว่าจ้างทนายความ ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป และเป็นห่วงอากงมาก กระทั่งได้เจอกลุ่มทนายอาสาที่เข้าให้ความช่วยเหลือ
แม้คดีความเพิ่งถึงชั้นศาล และยังศาลยังไม่ได้พิพากษา แต่สำหรับคดีเช่นนี้ สังคมไทยพิพากษาแล้วแต่แรก มันทำให้ป๊าอุ๊และหลานๆ ไม่สามารถอาศัยอยู่ห้องเช่าเดิมได้ ต้องหอบข้าวหอบของมานอนแออัดอยู่ที่ห้องเช่าของปุ้ย เพราะแม้แต่หลานตัวเล็กๆ ยังถูกกระแนะกระแหน ด่าว่า จากคนรอบข้าง ลูกชายคนเล็กต้องลาออกจากโรงงานเพราะถูกกดดันจากเรื่องคดีของพ่อ และลูกสาวถูกล้อเลียนในโรงงานว่าเป็นลูกฮาร์ดคอร์
“คนที่เข้าใจก็มี แต่กับคนที่ไม่เข้าใจเขาก็มาทำให้เราเจ็บปวดอยู่เสมอ คดีนี้ถึงที่สุดแล้วต่อให้ไม่ผิด ไม่ติดคุก สังคมก็ตัดสินเราไปแล้ว” ป๊าอุ๊ว่า
เธอกล่าวว่า เธอเชื่อว่าสามีของเธอไม่ได้กระทำการอย่างที่ยืนยัน แต่แม้ถ้าสามีกระทำการอย่างนั้นก็ไม่ควรลงทัณฑ์เลยมาถึงครอบครัว
“เป็นห่วงหลานๆ มากที่สุด ไม่อยากให้พวกเขาต้องลำบาก แค่ลำพังแค่พวกเราคนแก่ไม่เป็นไร เดี๋ยวเราก็ตายกันแล้ว ป้าอยากให้หลานๆ เปลี่ยนนามสกุลใหม่ เขาจะได้ไม่ต้องมีปัญหากับเรื่องแบบนี้ มีชีวิตใหม่” ป้าอุ๊น้ำตาเอ่อ
ในชั้นสอบสวนของตำรวจ หลังอากงติดคุกอยู่ราว 2 เดือน ในที่สุดศาลอุทธรณ์ก็อนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 4 ต.ค.53 โดยให้เหตุผลว่าหลักประกันน่าเชื่อถือ หลังจากก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นให้เหตุผลที่ไม่อนุญาตให้ประกันว่าเป็นคดีร้ายแรงกระทบกระเทือนจิตใจคนไทย เกรงจะหลบหนี อย่างไรก็ตาม การปล่อยก็ทำให้ลุงอำพลได้ออกมารักษาแผลผ่าตัดมะเร็งใต้โคนลิ้นที่กำเริบจนลิ้นบวมคับปากได้ทันการณ์
จากนั้นวันที่ 18 ม.ค. อัยการจึงมีคำสั่งฟ้องและต้องประกันตัวอีกครั้งในชั้นพิจารณาคดี ทนายความยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ใช้โฉนดที่ดินเป็นหลักประกัน ระหว่างรอคำสั่ง ลุงอำพลถูกคุมตัวไว้ในคุกใต้ถุนศาลไม่ยอมกินข้าวกินปลา เช่นเดียวกับป้าอุ๊ที่แม้อยู่นอกกรงขังก็ไม่ยอมกินข้าวเช่นเดียวกัน รอกว่า 8 ชั่วโมง จึงได้รับทราบคำสั่ง ก่อนที่ลุงอำพลจะถูกนำตัวไปไว้ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ที่เพิ่งจากมาอีกครั้ง
ตลอดเวลาที่ต้องถูกขังอยู่ข้างใน อากง ได้กำลังใจ และการปลอบประโลมซึ่งกันและกันจากพี่หนุ่ม ธันย์ฐวุฒิ เหยื่อคดีหมิ่นฯอีกท่านหนึ่งที่ถูกพรากจากลูกชายวัย 10 ขวบ พี่หนุ่มคอยช่วยดูและและรายงานข่าวคราว ประสานงานด้านสิ่งที่ขาดเหลือของอากง จนเป็นที่รู้จักกับญาติๆของอากง
2 มิถุนายน 2554 จดหมายฉบับหนึ่งถูกส่งผ่านทนายอานนท์ นำภา เพื่อให้กับพี่หนุ่มได้อ่าน เพื่อบอกเล่าเรื่องราวชะตากรรมที่ครอบครัวต้องประสบ หลังจากอากงต้องตกเป็นเหยื่อการเมืองด้วยข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ

ทนายอานนท์เล่าว่า
ผมได้รับจดหมายจากเรือนจำซึ่งในนั้นแนบจดหมายอีกฉบับหนึ่งมาด้วย ทุกข้อความในจดหมายล้วนเขียนด้วยหัวใจที่เปี่ยมด้วยความกำลังใจและความหวัง จดหมายฉบับดังกล่าวคือจดหมายที่ คุณแพว ลูกสาวของอากงจำเลยคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพเขียนถึง พี่หนุ่ม เรดนนท์
ผมค่อยๆอ่านจดหมายและแน่ใจว่านี่คือความจริงในอีกด้านของประเทศอันเรียกตนเองว่าเป็นประชาธิปไตย ประเทศที่มีสิทธิเสรีภาพ และประเทศแห่งรอยยิ้ม และน้ำใจให้แก่กัน … สมควรจะได้อ่านและรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้น…
” สวัสดีคะ พี่หนุ่ม พวกเราลูกๆของเตี่ยทุกคนขออนุญาตเรียกคุณหนุ่มว่า “พี่” ในความรู้สึกของพวกเราเป็นแบบนั้นจริงๆ เหมือนกับมีพี่ชายที่คอยดูแลห่วงใยและให้กำลังใจครอบครัวของเราอยู่ ในความทุกข์ที่มืดมิดก็ยังมีแสงสว่างที่มาจากพี่หนุ่ม พวกเราได้รู้จักทนายความที่คอยให้ความช่วยเหลือเตี่ยและหลายๆคนที่มีน้ำใจให้กับพวกเรา สิ่งที่เราเป็นห่วงเตี่ยมากที่สุดคือ จิตใจที่อ่อนล้าและท้อแท้ของเตี่ย ความเข็มแข็งคงแทบจะหมดไปแล้ว ครั้งนี้ขอประกันตัวอีกกี่ครั้งก็ถูกปฏิเสธตลอด พวกเราเข้าใจว่ามันคงสาหัสมากกับความรู้สึกของเตี่ย ร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงก็ยิ่งแย่มากขึ้น ความทุกข์ใจ ความกังวลใจที่เกดกับพวกเราอย่างมากเเพราะไม่สามารถคอยปลอบใจคอยดูแลได้ตลอด แต่ความทุกข์ของครอบครัวเราก็ยังเบาบางลงเพราะมีพี่หนุ่มคอยดูแล คอยให้กำลังใจ คอยกระตุ้นจิตใจของเตี่ย ขอขอบพระคุณพี่หนุ่มมาก พวกเราซาบซึ้งใจมากเหลือเกิน จนเขียนบรรยายไม่ถูก ได้แต่ขอเรียกพี่หนุ่มว่าเป็นพี่ชายของครอบครัวเรา ที่คอยดูแลเตี่ยให้กับน้องๆทุกคน
พี่หนุ่มไม่ใช่แค่แรงกระตุ้นให้กับเตี่ยเท่านั้น แต่ยังเป็นแรงกระตุ้นให้กับครอบครัวตั้งนพกุลทุกคนไม่ให้ท้อแท้สิ้นหวัง อ่านจดหมายของพี่หนุ่มแล้วพวกเรามีกำลังใจมากขึ้น เพราะรู้ว่าไม่ได้สู้เพียงลำพังยังมีคนอื่นอีกมากมายที่โดนแบบเรา พวกเขาก็สู้เพื่อขอความยุติธรรมและอิสระภาพให้กับคนที่ต้องโดนแบบเตี่ยพวกเราพี่น้องทุกคนก็ไม่ท้อแท้แล้วยังมีหนทางสู้เพื่อเตี่ยของเรา พวกเราอยู่ข้างนอกต้องมีกำลังใจที่เข้มแข็งเพื่อคนข้างใน ครอบครัวของเราไม่เคยคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดกับพวกเราเพราะดูแล้วเป็นเรื่องที่ห่างไกลเหลือเกิน ในความเป็นคนไทยของเราครอบครัวเราทุกคน ให้ รักความเทิดทูนเคารพบูชาสถาบันมากที่สุด และเสียใจมากที่สถาบันลูกนำมาใช้อ้างโดยที่สถาบันไม่รู้ไม่เห็น มันเป็นความสะเทือนใจสำหรับประชาชนชาวไทยทุกคนเพราะคนไทยรักและเคารพสถาบันมากกว่าสิ่งใด พวกเราต้องสู้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองนี้ เพราะคดีนี้ถูกนำมาเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยที่มีมดปลวกอย่างพวกเราเป็นแพะคอยรับบาป
สุดท้ายนี้ต้องขอโทษพี่หนุ่มมากๆที่เขียนตอบช้ามาก เพราะช่วงนี้วิ่งเต้นประกันตัวเตี่ย หยุดงานมากไปหน่อยเลยตกงาน มัวแต่พยายามหางานใหม่ทำอยู่เลยไม่ได้เขียนตอบกลับทันที ถึงจะต้องสู้กับการดำรงชีวิตกับสิ่งหลายๆอย่างรอบตัว แต่ขอยืนยันว่ายังไงคนที่อยู่ข้างนอกก็ไม่มีวันทิ้งคนที่อยู่ข้างในจะสู้ต่อไปเพื่อความถูกต้องและขอความยุติธรรมกับอิสระภาพให้คนข้างใน ขอเพียงคนข้างในอย่าสิ้นหวังเท่านั้น วันนั้นที่ไปดูการตัดสินคดีของพี่หนุ่ม ได้เจอน้องเว็บลูกชายพี่หนุ่มด้วยเป็นเด็กน่ารักมาก ขอให้พี่หนุ่มได้รับความยุติธรรมเร็วๆจะได้กลับไปอยู่กับน้องเว็บเร็วๆ เพราะรู้ดีว่าใจของคนที่รออยู่ข้างนอกเป็นยังไง พวกเราก็รอเตี่ยอยู่เหมือนกันว่าเมื่อไหร่จะได้กลับมาอยู่กลับพวกเราเสียที
ขอเป็นกำลังใจให้ค่ะ
” ลูกแพว”
ทีมงานสำนักกฎหมายราษฎรประสงค์ยังต้องพบเจอกับเรื่องสะเทือนใจอีกมากมาย เช่น หลานๆของอากง คิดถึงอากงมาก เมื่อก่อนตอนที่อากงยังอยู่กับหลานๆ ทุกๆครั้งที่อากงไปส่งหลานๆแต่ละคนที่โรงเรียน ก่อนกลับก้จะบอกลากับหลานๆแบบติดตลกเป็นภาษาอังกฤษว่า I - Go หลานๆทุกคนยังจำเสีัยงได้ติดหู ยังจำภาพได้ติดตา เพียงแต่วันนี้ไม่มีอากงคอยมารับมาส่งหลานๆเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว
วันหนึ่งหลานๆพยายามช่วยกันเขียนจดหมายหาอากง ด้วยความคิดถึงและในวาระครบรอบวันเกิดอายุครบ 61 ปีของอากง หลานๆเขียนเล่าเรื่องราวต่างๆ และให้กำลังใจอากง อยากซื้อเค้กวันเกิดให้อากงได้กิน แต่ก็ทำไม่ได้ เพราะเรือนจำไม่ให้เอาเค้กเข้าไป จึงได้แต่วาดรูปเค๊กวันเกิดสีแดง มาให้อากง พร้อมกับเขียนข้อความของอากงที่หลานๆยังคงติดตรึงในใจ "I - Go" อากงนั่งอ่านจดหมายไปร้องไห้ไป

ทุกๆครั้งที่เราได้จัดกิจกรรม"ของขวัญสีแดง แด่เพื่อนสีแดง" เพื่อเข้าเยี่ยมเพื่อนนักโทษการเมืองทุกๆคน เราก็จะได้เห็นรอยยิ้มของอากง ที่มีให้กับทุกๆคนที่เข้าไปเยี่ยม ไปเป็นกำลังใจ อากงเป็นคนพูดไม่เก่งและพูดเสียงเบา ทุกๆครั้งที่ผมเข้าไปเยี่ยมมักจะมีแต่รอยยิ้มและคำขอบคุณให้กับทุกๆคนที่เข้าไปหา โดยไม่ได้พูดหรือเรียกร้องอะไร แต่ภายในดวงตา เปี่ยมไปด้วยความท้อแท้และสิ้นหวังกับโชคชะตา บนใบหน้ายังเจื่อนปนด้วยรอยยิ้ม จากการที่มีคนเข้ามาเยี่ยมเยือน
21 กันยายน 2554 ทีมงานนัดพบกับ"ป้าอุ๊"อีกครั้ง เพื่อเตรียมการเรื่องคดี ในการสืบพยานครั้งแรกคดีอากง ที่จะมีขึ้นในวันศุกร์ ที่ 23 กันยายนที่จะถึงนี้ ป้าอุ๊พาพวกเราไปดูบ้านหลังเก่า ในช่วงที่อากงถูกจับ เป็นห้องเช่าเล็กๆแถวสมุทรปราการ ราคาเดือนละ 1,200 บาท
ป้าอุ๊เล่าว่า ก่อนวันที่อากงจะถูกจับ มีตำรวจนอกเครื่องแบบคนนึง ตอนแรกก็ไม่รู้หรอกว่าเป็นตำรวจ ทำทีจะมาหาห้องเช่าในตึกแถวเดียวกันให้คนเก็บขยะมาอยู่ ซึ่งห้องริมสุดว่างอยู่ ป้าอุ๊ก็ช่วยเหลือต้อนรับขับสู้อย่างดี พาไปดูห้อง ไปหาเจ้าของตึก ด้วยน้ำใจไมตรี และก็พาเข้ามานั่งพักร่มในบ้าน นายตำรวจคนนั้นทำทีว่าห้องที่เขาจะเช่าไม่เหมือนห้องของป้าอุ๊เลย จึงขอถ่ายรูปไปเทียบกัน แล้วก็เอากล้องขึ้นมาถ่ายรอบๆบ้าน ถ่ายอากง ถ่ายป้าอุ๊ รวมถึงถ่ายรูปเด็กๆลูกหลานในบ้านเอาไว้ทุกคน
วันรุ่งขึ้นตอนเช้ามืด ตำรวจก็มากันเต็มบ้านนับสิบนาย นักข่าวอะไรก็มาเต็มเลย มาล้อมจับ ค้นข้าวของในบ้าน ใส่กุญแจมือเอาตัวอากงไปที่โรงพัก ทิ้งไว้เพียงเสียงร้องงอแงของหลานๆ และความตกใจปนหดหู่ของป้าอุ๊และลูกสาว(ปุ้ย) และเพิ่งรู้เมื่อเช้านั้นเองว่าคนที่มาทำทีเป็นเช่าบ้านข้างๆเมื่อวานเป็นนายตำรวจยศร้อยเอก ลูกชายคนหนึ่งของ"สนธิ บัง"

ในปัจจุบันนี้ป้าอุ๊ต้องรับภาระทำกับข้าว ซักผ้า เลี้ยงหลาน นั่งรถสามล้อไปรับไปส่งหลานทั้ง 5 คน เพียงลำพัง เนื่องจากลูกสาวต้องทำงานเพื่อส่งเงินมาเลี้ยงครอบครัว ช่วงนั้นลางานบ่อย เพราะต้องไปเยี่ยม ไปยื่นเรื่องประกันอากง จนลูกสาวต้องถูกให้ออกจากงาน ต้องวิ่งหางานใหม่ ป้าอุีมีรายได้จากที่ลูกๆสองคนส่งให้ เดือนละ 4,500 บาท ไว้เลี้ยงดูหลานทั้ง และใช้นั่งรถเมล์เดินทางไปเยี่ยมอากง วันไหนไปก็ต้องรีบกลับให้ทันมารับหลานๆกลับจากโรงเรียน เหนื่อยมากจริงๆ ไม่รู้ทำไมต้องมาเผชิญกับเรื่องแบบนี้
2-3 เดือนก่อนแม่อากงก็เพิ่งเสียไปด้วยวัย 95 ปี ไล่เลี่ยกันกับแม่ของป้าอุ๊ก็เสียในเดือนต่อมา อากงอยู่ข้างในได้แต่ร้องไห้เสียใจ ที่แม้แต่มากราบศพแม่ หรือมาร่วมงานศพ ยังไม่สามารถทำได้ ป้าอุ๊ก็ทำได้แค่เพียงปลอบเขา ให้ใช้ธรรมะช่วยพยุงจิตใจนะ เพราะปกติตอนก่อนถูกจับ อากงจะเป็นคนดูแล ป้อนข้าวป้อนน้ำให้กับแม่ของอากงอยู่ตลอด สลับกับหน้าที่ไปรับไปส่งหลานๆที่โรงเรียน ตอนนี้ขาดอากงไป ป้าอุ๊ก็เหนื่อยเพิ่มมากขึ้นเป็นสองเท่า ป้ารับไม่ค่อยไหว บางวันก็อารมณ์ไม่ดี หลานๆทะเลาะกันก็ยิ่งขุ่นหมองใจไปใหญ่ กับเรื่องเครียดๆของป้าเองด้วย
อากงเป็นคนเงียบๆ แต่เซ้นส์ซิทีฟ ครั้งนึงตอนที่ลูกสาวมาบ่นรำพึงให้ฟังอากงว่าในหลวงทรงประชวรหนัก นั่งทอดพระเนตรแม่น้ำเจ้าพระยา สงสารพระองค์จริงๆ อากงถึงกับร้องไห้ น้ำตาไหล ช่วงที่พระองค์ประชวรอากงก็ไปลงนามถวายพระพรที่โรงพยาบาล ช่วงงานศพพระพี่นาง อากงก็ไปร่วมงานกับเขา ไปสังเกตการณ์ทางการเมืองก็มักจะซื้อพระบรมฉายาลักษณ์ทั้งเล็กทั้งใหญ่ติดมือกลับมาบ้านเป็นประจำ ไม่เข้าใจว่าทำไมอากงจะต้องมาโดนเล่นงานอะไรด้วยข้อหาแบบนี้ ป้ามั่นใจว่าอากงไม่ได้เป็นคนทำอะไรแบบนั้น แล้วถ้าอากงไม่ได้มีความผิดจริงๆนะ ป้าอยากจะบอกว่า "พวกเขาน่ะ ฆ่าป้าไปเยอะมากเลยนะ ฆ่าครอบครัวของป้า ทำลายครอบครัวของป้า แทนทีอากงจะได้อยู่กันพร้อมหน้าช่วยกันดูแลหลานๆ แต่ต้องมาเจออะไรร้ายแรงแบบนี้ "
ทุกคนในรถต่างนั่งฟังป้าคนหนึ่งเล่าถึงชีวิตของตนเองและความอยุติธรรมที่ถูกกระทำกับสามีของเธอ ซึ่งทำให้เธอและลูกหลานต้องเดือดร้อนลำบาก เหล่าทีมงานที่นั่งฟังต่างก็จุกอยู่ในลำคอ พูดอะไรไม่ออก ทำอะไรไม่ได้ แต่ก็ได้แต่สัญญาว่าจะช่วยคดีอากงให้ถึงที่สุด ไม่ว่าผลมันจะออกมาในรูปแบบใด
วันศุกร์ที่ 23 กันยายนนี้ หากท่านใดว่า ขอเชิญมาร่วมให้กำลังใจ อากง อำพล ตั้งนพกุล ร่วมกันในการสืบพยานโจทก์ครั้งแรกในข้อกล่าวหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพด้วยการส่งข้อความSMSให้นายกรัฐมนตรี ณ ศาลอาญารัชดา ครับ

No comments: